วันจันทร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ประวัติมวยไทย


มวยไทยกับคนไทย
....จากการจำแนกเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ คนไทยมีเชื้อชาติอยู่ในกลุ่มมองโกเลีย ลักษณะร่างกายโดยทั่วไปตัวเล็กกว่าคนที่อาศัยอยู่ในเขตหนาว ความสูงโดยเฉลี่ย 5 ฟุต 3 นิ้ว ร่างกายล่ำสัน สมส่วน ทะมัดทะแมง น้ำหนักตัวน้อย มีความคล่องตัวและยืดหยุ่นสูง มือมีเนื้อนุ่มนิ่ม ผิวสีน้าตาลอ่อน ผมดกดำ ขนตามตัวมีน้อย เคราไม่ดกหนา รูปศีรษะเป็นสัดส่วนดี ลูกตาสีดำตาขาวมีสีเหลืองเล็กน้อย กระพุ้งแก้มอวบอูม ใบหน้ากลม เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศเป็นเมืองร้อนใกล้เส้นศูนย์สูตรประชาชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ ใช้เรือเป็นพาหนะ จึงทำให้คนไทยสวมเสื้อผ้าน้อยชิ้น ไม่สวมหมวกและรองเท้า สามารถใช้อวัยวะหมัด เท้า เข่า ศอก ได้อย่างคล่องแคล่วว่องไว จึงนำไปผสมผสานกับการใช้อาวุธมีด ดาบ หอก เพื่อป้องกันตนเองและป้องกันประเทศ

....มวยไทยนั้นมีมาพร้อมกับคนไทย เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติไทยมาช้านาน ในสมัยโบราณประเทศไทยมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ จึงมีการสู้รบกันอยู่เสมอๆ ดังนั้นชายไทยจึงนิยมฝึกมวยไทยควบคู่กับการฝึกอาวุธ ต่อมาได้วิวัฒนาการจนกลายเป็นศิลปะการต่อสู้ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากขึ้น มีลีลาการเคลื่อนไหวที่สวยงามแฝงไว้ด้วยความแข็งแกร่งดุดัน สามารถฝึกเพื่อป้องกันตนเอง เพื่อความแข็งแรงของร่างกาย และเพื่อเป็นอาชีพได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

2. มวยไทยในสมัยกรุงสุโขทัย
....สมัยกรุงสุโขทัยเริ่มประมาณ พ.ศ.1781 - 1951 รวมระยะเวลา 140 ปี หลักฐานจากศิลาจารึกกล่าวไว้ชัดเจนว่า กรุงสุโขทัยทำสงครามกับประเทศอื่นรอบด้าน จึงมีการฝึกทหารให้มีความรู้ความชำนาญในรบด้วยอาวุธ ดาบ หอก โล่ห์ รวมไปถึงการใช้อวัยวะของร่างกายเข้าช่วยในการรบระยะประชิดตัวด้วย เช่น ถีบ เตะ เข่า ศอก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรบ

....หลังเสร็จสงครามแล้ว ชายหนุ่มในสมัยกรุงสุโขทัยมักจะฝึกมวยไทยกันทุกคนเพื่อเสริมลักษณะชายชาตรี เพื่อศิลปะป้องกันตัว เพื่อเตรียมเข้ารับราชการทหารและถือเป็นประเพณีอันดีงาม ในสมัยนั้นจะฝึกมวยไทยตามสำนักที่มีชื่อเสียง เช่น สำนักสมอคอน แขวงเมืองลพบุรี นอกจากนี้ยังมีการฝึกมวยไทยตามลานวัดโดยพระภิกษุอีกด้วย วิธีฝึกหัดมวยไทยในสมัยกรุงสุโขทัย ครูมวยจะใช้กลอุบายให้ศิษย์ ตักน้ำ ตำข้าว ผ่าฟืน ว่ายน้ำ ห้อยโหนเถาวัลย์ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและอดทนก่อนจึงเริ่มฝึกทักษะ โดยการผูกผ้าขาวม้าเป็นปมใหญ่ๆไว้กับกิ่งไม้ แล้วชกให้ถูกด้วยหมัด เท้า เข่า ศอก นอกจากนี้ยังมีการฝึกเตะกับต้นกล้วย ชกกับคู่ซ้อม ปล้ำกับคู่ซ้อม จบลงด้วยการว่ายน้ำเพื่อทำความสะอาดร่างกายและผ่อนคลายกล้ามเนื้อก่อนนอน ครูมวยจะอบรมศีลธรรมจรรยา ทบทวนทักษะมวยไทยท่าต่างๆ จากการฝึกในวันนั้นผนวกกับทักษะท่าต่างๆ ที่ฝึกก่อนหน้านี้แล้ว

....สมัยกรุงสุโขทัยมวยไทยถือว่าเป็นศาสตร์ชั้นสูงถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรการศึกษาของกษัตริย์ เพื่อฝึกให้เป็นนักรบที่มีความกล้าหาญ มีสมรรถภาพร่างกายดีเยี่ยม เป็นกษัตริย์ที่เก่งกล้าสามารถในการปกครองประเทศต่อไป ดังความปรากฏตามพงศาวดารว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์กษัตริย์กรุงสุโขทัยพระองค์แรกทรงเห็นการณ์ไกลส่งเจ้าชายร่วงองค์ที่ 2 อายุ 13 พรรษา ไปฝึกมวยไทยที่ สำนักสมอคอน แขวงเมืองลพบุรี เพื่อฝึกให้เป็นกษัตริย์ที่เก่งกล้าในอนาคต และในปี พ.ศ. 1818 - 1860 พ่อขุนรามคำแหงได้เขียนตำหรับพิชัยสงคราม ข้อความบางตอนกล่าวถึงมวยไทยด้วย นอกจากนี้พระเจ้าลิไท เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ทรงได้รับการศึกษาจากสำนักราชบัณฑิตในพระราชวังมีความรู้แตกฉานจนได้รับยกย่องว่าเป็นปราชญ์ ซึ่งสำนักราชบัณฑิตมิได้สอนวิชาการเพียงอย่างเดียว พระองค์ต้องฝึกภาคปฏิบัติควบคู่กันไปด้วย โดยเฉพาะการต่อสู้ป้องกันตัวด้วยมือเปล่าแบบมวยไทย และการใช้อาวุธ คือ ดาบ หอก มีด โล่ห์ธนู เป็นต้น

มวยไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยา
....สมัยกรุงศรีอยุธยาเริ่มประมาณ พ.ศ.1988 - 2310 ระยะเวลา 417 ปี บางสมัยก็มีศึกกับประเทศใกล้เคียง เช่น พม่า และเขมร ดังนั้นชายหนุ่มสมัยกรุงศรีอยุธยาจึงต้องฝึกฝนความชำนาญในกานต่อสู้ด้วยอาวุธและศิลปะป้องกันตัวด้วยมือเปล่า โดยมีครูผู้เชี่ยวชาญทางการต่อสู้เป็นผู้สอน การฝึกเริ่มจากในวังไปสู่ประชาชน สำนักดาบพุทธไทสวรรค์เป็นสำนักดาบที่มีชื่อเสียงสมัยอยุธยา มีผู้นิยมไปเรียนมาก ซึ่งในการฝึกจะใช้อาวุธจำลอง คือดาบหวายเรียกว่า กระบี่กระบอง นอกจากนี้ยังต้องฝึกการต่อสู้ป้องกันตัวด้วยมือเปล่า เรียกว่า มวยไทย ควบคู่กันไปด้วย ในสมัยนี้วัดยังคงเป็นสถานที่ให้ความรู้ทั้งวิชาสามัญและวิชาปฏิบัติในเชิงอาวุธควบคู่กับมวยไทยอีกด้วย
• สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พ.ศ.2133 - 2147)
....พระองค์ทรงเลือกคนหนุ่มรุ่นราวคราวเดียวกับพระองค์มาทรงฝึกหัดด้วยพระองค์เอง โดยฝึกให้มีความกล้าหาญ มีความเชื่อมั่นตนเอง ใช้อาวุธได้ทุกชนิดอย่างชำนาญ มีความสามารถในศิลปะการต่อสู้มวยไทยดีเยี่ยม และพระองค์ทรงตั้ง กองเสือป่าแมวมอง เป็นหน่วยรบแบบกองโจร ซึ่งทหารกองนี้เองมีบทบาทมากในการกอบกู้เอกราชจากพม่าในปี พ.ศ.2127

• สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ.2147 - 2233)
....สภาพบ้านเมืองสงบร่มเย็น มีความเจริญรุ่งเรืองมาก พระองค์ทรงให้การส่งเสริมและสนับสนุนกีฬาอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะมวยไทยนั้นนิยมกันมากจนกลายเป็นกีฬาอาชีพ มีค่ายมวยเกิดขึ้นมากมาย มวยไทยสมัยนี้ชกกันบนลานดิน โดยใช้เชือกเส้นเดียวกั้นบริเวณเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส นักมวยจะใช้ด้ายดิบชุบแป้งหรือน้ำมันดินจนแข็งพันมือ เรียกว่า คาดเชือก หรือ มวยคาดเชือก นิยมสวมมงคลไว้ที่ศีรษะ และผูกประเจียดไว้ที่ต้นแขนตลอดการแข่งขัน การเปรียบคู่ชกด้วยความสมัครใจทั้งสองฝ่าย ไม่คำนึงถึงขนาดร่างกายลาอายุ กติกาการชกง่ายๆ คือ ชกจนกว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะยอมแพ้ ในงานเทศกาลต่างๆ ต้องมีการจัดแข่งขันมวยไทยด้วยเสมอ มีการพนันกันระหว่างนักมวยที่เก่งจากหมู่บ้านหนึ่งกับนักมวยที่เก่งจากอีกหมู่บ้านหนึ่ง

• สมัยสมเด็จพระเจ้าเสือ (พ.ศ.2240 - 2252)
....สมัยพระเจ้าเสือ หรือขุนหลวงสุรศักดิ์ พระองค์ทรงโปรดการชกมวยไทยมาก ครั้งหนึ่งพระองค์ได้เสด็จไปที่ตำบลหาดกรวด พร้อมด้วยมหาดเล็กอีก 4 คน แต่งกายแบบชาวบ้านไปเที่ยวงานแล้วเข้าร่วมการเปรียบคู่ชก นายสนามรู้เพียงว่าพระองค์เป็นนักมวยจากเมืองกรุงจึงจัดให้ชกกับนักมวยฝีมือดีจากสำนักมวยเมืองวิเศษไชยชาญ ซึ่งได้แก่ นายกลาง หมัดตาย นายใหญ่ หมัดเล็ก และนายเล็ก หมัดหนัก ซึ่งพระองค์ชกชนะทั้งสามคนรวด นกจากนี้พระองค์ทรงฝึกฝนให้เจ้าฟ้าเพชรและเจ้าฟ้าพร พระราชโอรสให้มีความสามารถในด้านมวยไทย กระบี่กระบองและมวยปล้ำอีกด้วย

ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ....พระมหากษัตริย์ทรงโปรดให้มีกรมมวยหลวงขึ้นโดยให้คัดเลือกเอาชายฉกรรจ์ที่มีฝีมือในการชกมวยไทยเข้าต่อสู้กันหน้าพระที่นั่ง แล้วคัดเลือกผู้มีฝีมือเลิศไว้เป็นทหารสนิท และทหารรักษาพระองค์ เรียกว่า "ทหารเลือก" สังกัดกรมมวยหลวง มีหน้าที่รักษาความปลอดภัย ภายในพระราชวังหรือตามเสด็จในงานต่างๆ ทั้งยังเป็นครูฝึกมวยไทยให้ทหารและพระราชโอรสอีกด้วย

สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย

หลังจากพ่ายแพ้แก่พม่าเป็นครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๓๑๐ มีนักมวยมีชื่อเสียงสองคน ดังนี้

๑. นายขนมต้ม เป็นเชลยไทยที่ถูกกวาดต้อนไปครั้งกรุงศรีอยุธยาแตก ครั้งที่ ๒ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๐ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๑๗ พระเจ้ากรุงอังวะ กษัตริย์พม่าโปรดให้จัดงานพิธีสมโภชมหาเจดีย์ใหญ่ ณ เมืองร่างกุ้ง ทรงตรัสให้หานักมวยไทยฝีมือดี มาเปรียบกับนักมวยพม่า แล้วให้ชกกันที่หน้าพระที่นั่ง ในวันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ.๒๓๑๗ ซึ่งนายขนมต้มชกชนะนักมวยพม่าถึง ๑๐ คน โดยไม่มีการพักเลย การชกชนะครั้งนี้เป็นการเผยแพร่ศิลปะมวยไทยในต่างแดนเป็นครั้งแรก ดังนั้นนายขนมจึงเปรียบเสมือน "บิดามวยไทย" และวันที่ ๑๗ มีนาคม ถือว่า เป็นวันมวยไทย

๒.พระยาพิชัยดาบหัก (พ.ศ.๒๒๘๔ - ๒๓๒๕) เดิมชื่อจ้อย เป็นคนเมืองพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ มีความรู้ความสามารถเชิงกีฬามวยไทยมาก ได้ฝึกมวยไทยจากสำนักครูเที่ยงและใช้วิชาความรู้ชกมวยไทยหาเลี้ยงตัวเองมาจนอายุได้ ๑๖ ปี แล้วจึงฝึกดาบ กายกรรม และมวยจีนจากคนจีน ด้วยฝีมือเป็นเลิศในเชิงมวยไทยและดาบ เป็นที่ปรากฏแก่สายตาของพระยาตาก จึงนำเข้าไปรับราชการได้บรรดาศักดิ์เป็นหลวงพิชัยอาสา หลังจากพระเจ้าตากสิ้นได้กรุงธนบุรีเป็นราชธานี ก็ให้พระยาพิชัยไปครองเมืองพิชัยบ้านเมืองเดิมของตนเอง ในปี พ.ส.๒๓๑๔ พม่ายกทับมาตีเมืองเชียงใหม่แล้วเลยมาตีเมืองพิชัย พระยาพิชัยนำทหารออกสู้รบ การรบถึงขั้นตะลุมบอน จนดาบหักทั้งสองข้าง จึงได้นามว่า พระยาพิชัยดาบหัก

สมัยกรุงธนบุรี

สมัยกรุงธนบุรีเริ่ม พ.ศ.๒๓๑๐ - ๒๓๒๔ ระยะเวลา ๑๔ ปี บ้านเมืองอยู่ระหว่างการฟื้นฟูประเทศ หลังจากการกู้อิสรภาพคืนมาได้ การฝึกมวยไทยสมัยนี้เพื่อการสงครามและการฝึกทหารอย่างแท้จริง

ในยุคนี้มีนักมวยฝีมือดีมากมาย เช่น นายเมฆบ้านท่าเสา นายเที่ยงบ้านเก่ง นายแห้วแขวงเมืองตาก นายนิลทุ่งยั้ง นายถึกศิษย์ครูนิล ส่วนนักมวยที่เป็นนายทหารเลือกของพระเจ้าตากสิน ได้แก่ หลวงพรหมเสนา หลวงราชเสน่หา ขุนอภัยภักดี นายหมึก นายทองดี ฟันขาว หรือพระยาพิชัยดาบหัก การจัดชกมวยในสมัยกรุงธนบุรี นิยมจัดนักมวยต่างถิ่น หรือลูกศิษย์ต่างครูชกกัน กติกาการแข่งขันยังไม่ปรากฏชัดเจน ทราบเพียงแต่ว่าชกแบบไม่มีคะแนน จนกว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะยอมแพ้ไป สังเวียนเป็นลานดิน ส่วนมากเป็นบริเวณวัด นักมวยยังชกแบบคาดเชือกสวมมงคล และผูกประเจียดที่ต้นแขนขณะทำการแข่งขัน